ที่ตั้ง https://goo.gl/maps/RP7pJnQ2mRk8HRXL7
ที่อยู่ เลขที่ 93 ถ.มุกดาหาร-ดอนตาล ต.สีบุญเรือง อ.เมือง จ.มุกดาหาร 49000
หอแก้วมุกดาหารเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก หรือมักเรียกกันสั้น ๆ ว่า หอแก้วมุกดาหาร สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี ภายใต้การริเริ่มของนายสาโรช คัชมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร ในขณะนั้น โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างขึ้นบนเนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 14 ตารางวา ซึ่งได้รับการบริจาคโดย นายธีระชัย ฐานิตสรณ์ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2538 ดำเนินการก่อสร้างโดยใช้เทคโนโลยีชั้นสูงสมัยใหม่ ทั้งในด้านการออกแบบ โครงสร้าง และการก่อสร้าง แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2539 จากนั้นมอบให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)มุกดาหารเป็นหน่วยงานดูแลรักษา โดยเปิดให้เข้าชมครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2539 และกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งที่สำคัญของจังหวัดมุกดาหาร
หอแก้วมุกดาหาร มีลักษณะเป็นหอคอยรูปทรงกระบอก มีความสูง 65.50 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางตัวแกนหอคอย 6 เมตร ส่วนฐานมีลักษณะเป็นอาคาร 2 ชั้น ทรงเก้าเหลี่ยมแทนความหมายถึงรัชกาลที่ 9 มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร มีทางเข้าออก 3 ทาง ส่วนแกนหอคอยเริ่มตั้งแต่ชั้น 3 ถึงชั้น 6 มีความสูง 50 เมตร ส่วนหอชมวิว และโดม มีความสูง 15 เมตร บนยอดสูงสุดเป็นที่ตั้งของ “ลูกแก้วมุกดาหาร” มีลักษณะกลมสีขาวหมอกมัว ทำจากประเทศเยอรมนี มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 เมตร การขึ้นไปเที่ยวชมจะมีลิฟต์และบันไดเวียน สำหรับอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการขึ้นไปยังหอชมวิวและชั้นต่างๆ ของหอคอย โดยมีชั้นสำหรับชมนิทรรศการและทัศนียภาพรอบด้าน ในระดับต่าง ๆ รวม 4 ระดับ คือชั้นที่ 1 2 6 และ 7 โดยบนชั้นที่ 6 มีกล้องส่องทางไกลไว้รอบด้านเพื่อชมทิวทัศน์ ในระยะไกล นอกจากจะเห็นเมืองมุกดาหารในมุมสูงแล้ว ยังสามารถมองเห็นเมืองคันทะบุลี แขวงสะหวันนะเขต ที่อยู่อีกฝั่งของแม่น้ำโขงได้อย่างชัดเจน
กิจกรรมและองค์ความรู้ภูมิปัญญาชุมชน
ชั้นที่ 1
จัดแสดงภาพปั้นดินเผาที่แสดงถึงวิถีชีวิตชาวมุกดาหารในอดีต รวมถึงประวัติความเป็นมาของเมืองมุกดาหาร
ชั้นที่ 2
จัดแสดงนิทรรศการ (จัดทำโดยคุณสุจิตต์ จันทรสาขา ลูกหลานผู้สืบเชื้อสายเจ้าเมืองมุกดาหารในอดีต) เครื่องแต่งกายไทยมุกดาหาร 8 เผ่า รูปแบบของการจัดแสดงเป็นการนำเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายของชาวเผ่าต่างๆ ใส่กับหุ่นสำเร็จ อย่างไรก็ดีการสอดคล้องกับความเป็นจริงของเครื่องแต่งกายเผ่าต่าง ๆ และนำหุ่นลักษณะเชิงแฟชั่นที่ใช้ในร้านสรรพสินค้ามาจัดแสดง ยังต้องถูกตั้งคำถามถึงความถูกต้องและเหมาะสม
ส่วนเรื่องราวการก่อตั้งและการปกครองบอกเล่าผ่านจดหมายเหตุการเมือง – การปกครองของเมืองมุกดาหารในอดีต อาวุธสงครามโบราณ และวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับงานราชการ สัญลักษณ์วัตถุที่แสดงถึงอำนาจในอดีต ประวัติศาสตร์เหล่านี้กลับเน้นเพียงเรื่องราวของชนชั้นปกครองส่วนบน อาจเป็นเพราะเอกสารอ้างอิงมีเนื้อหาไปในทิศทางดังกล่าว หรือการเลือกที่จะบอกเล่าเรื่องเฉพาะนั้นๆ เรื่องราวในถิ่นเมืองมุกดาหารที่กล่าวถึงบุคคลทั่วไปเป็นสุญญากาศของประวัติศาสตร์ เพราะเนื้อหาเน้นในเรื่องของผู้ปกครองส่วนบน สายตระกูล และกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ไม่ได้บอกเล่าถึงชาวบ้านมากนัก
ชั้นที่ 6
นิทรรศการหลักจัดแสดงโดยใช้ผนังรอบในของหอ และกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ “แม่น้ำโขง มหานทีแห่งเอเชีย สายน้ำแห่งอุษาคเนย์ สายธารอารยธรรม” และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ “เส้นทางความสัมพันธ์ลุ่มน้ำโขง East-West Economic Corridor, เส้นทางการค้าไร้พรมแดน” การจัดแสดงโดยส่วนใหญ่เป็นการใช้งานออกแบบกราฟฟิก และการสร้างส่วนของสถาปัตยกรรม (ซุ้มปราสาททางเข้า) ประดับเป็นระยะ
นอกจากนี้ บริเวณกระจกโดยรอบจัดเป็นหอชมวิว และส่องกล้องทางไกลชมทิวทัศน์ของแม่น้ำโขง และฝั่งตรงข้าม คือประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เนื้อความที่อธิบายสถานที่ต่างๆ ที่สามารถมองเห็นได้จากกล้องส่องทางไกล เช่น พิพิธภัณฑ์กะปอมยักษ์ในลาว ส่วนบริเวณขายของที่ระลึก ตั้งอยู่ที่จุดแรกหลังจากออกมาจากลิฟท์โดยสาร
ชั้นที่ 7
เป็นห้องที่อยู่ในส่วนลูกแก้วบนสุดของหอคอย จัดเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธนวมิ่งมงคลมุกดาหาร (พระประจำเมือง) เป็นพระพุทธรูปเนื้อเงินแท้บริสุทธิ์ผสมทองคำ ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 20 นิ้ว นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปประจำวันเกิด โดย ผู้ชมสามารถสักการะและบริจาคเงิน
เอกสารอ้างอิง
https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/1020
https://thaiza.com/travel/guide/226601/