พิพิธภัณฑ์ผ้าลายโบราณ (บ้านป้าวึ) อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร
บ้านเลขที่ 203 หมู่ที่ 6ตำบล หนองสูงเหนือ อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร
เบอร์โทรศัพท์ 087 -2290304
ในอดีตเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา “ป้าวึ” เป็นผู้ที่มี ใจรักในการเก็บสะสมผ้าลายโบราณโดยมีวิธีการจัดเก็บโดยใช้ถุงกระสอบปุ๋ยในการรวบรวมผ้า ซึ่งผ้าลายโบราณที่ป้าวึได้เก็บสะสมนั้น ล้วนเป็นผ้าที่อยู่ภายในชุมชนถิ่นกำเนิดของป้าวึเอง ป้าวึจึงมีความผูกพันและมีวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการทอผ้ามาตั้งแต่เล็กจนโต โดยเรียนรู้จากการซึมซับของบุพการีของป้าวึ ในช่วงเว้นว่างจากการทำเกษตรกรรม กิจกรรมที่มักจะเกิดขึ้นภายในครอบครัว คือการทอผ้าและเป็นเช่นเดียวกันทั้งชุมชนระแวกนั้น ชาวบ้านต่างเห็นว่าป้าวึเป็นบุคคลที่มีใจรัก
ในการสะสมและทอผ้าเป็นชีวิตจิตใจ ชาวบ้านจึงได้มอบผ้าลายโบราณต่าง ๆ ทั้งผ้าทอใหม่ ผ้าที่ใช้แล้ว รวมไปถึง
ผ้าที่ชำรุด ส่งมอบแก่ป้าวึต่อเพื่อให้ป่าวีได้เก็บและดูแลรักษาต่อไป
ต่อมา ป้าวึเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น เริ่มมีนักเรียน ครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา จากสถาบันต่างๆ เข้ามาศึกษาเรื่องผ้าลายโบราณกับป้าวึ ทำให้ป้าวึได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา เพื่อประกอบการศึกษาต่อไป ภายหลังจากนั้นป้าวึได้เริ่มมีการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณขึ้น มาตั้งแต่ปีพุทธศักราช2554 จนถึงปัจจุบัน โดยใช้งบประมาณของตนในการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์นี้ขึ้น ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ผ้าลายโบราณ มีผ้าลายโบราณสะสมทั้งสิ้น 264 ผืน
ป้าวึ นางนรินทิพย์ สีหะตา เป็นปราชญ์ด้านการมัดหมี่และถอดลวดลายผ้าโบราณที่เกิดจากบรรพบุรุษเพื่ออนุรักษ์ลวดลายผ้าโบราณสืบสานภูมิปัญญา ท้องถิ่นโดยการส่งต่อให้กับทายาทในชุมชน และฝึกฝนให้เยาวชนรุ่นหลังในชุมชนที่มีความสนใจได้เรียนรู้และรักษาให้ลวดลายผ้าโบราณที่มีต้นแบบมาจากบรรพบุรุษได้ดำรงไว้ ทั้งนี้ป้าวึยังเปิดบ้านเป็น “พิพิธภัณฑ์บ้านผ้านรินทิพย์” เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมผ้าลายโบราณซึ่งมีมากว่า 230 ลาย นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งที่ศึกษาเรียนรู้กระบวนการทอผ้า ย้อมคราม มัดหมี่ ให้กับเยาวชนและประชาชนทั่วไปได้นำความรู้ไปประกอบอาชีพ ชนเผ่าภูไท(ผู้ไทย) เป็นกลุ่มที่มีความขยันและอดออมเป็นพิเศษและมีวัฒนธรรมในเรื่องการถักทอเสื้อผ้าเด่นชัดจึงปรากฏเสื้อผ้าชนิดต่างๆทั้งฝ้าฝ้ายผ้าไหมในกลุ่มชาวภูไท (ผู้ไทย) โดยเฉพาะผ้าแพรวานับว่ามีวัฒนธรรมเรื่องเสื้อผ้าเด่นชัดมาก ผ้าซิ่น หรือผ้าถุง เป็นวัฒนธรรมการแต่งกายของกลุ่มภูไทที่เด่นชัด คือ การทอผ้าซิ่นหมี่ตีนต่อเป็นผืนเดียวกับผ้าผืน เช่น ตีนต่อขนาดเล็ก กว้าง 4 ถึง 5 นิ้ว (มือ) ที่เรียกว่า ตีนเต๊าะ เป็นที่นิยมในหมู่ภูไท ทอเป็นหมี่สาด มีหม้อย้อมคราม จนเป็นสีครามเกือบเป็นสีดำ แต่ชาวบ้านเรียกว่าผ้าดำ หรือซิ่นดำ ลักษณะเด่นของซิ่นหมี่ชาวภูไท คือการทอและลวดลาย เช่น ทอเป็นลายขนาดเล็กๆ นอกจากนี้มีลายอื่น ๆ เช่น หมี่ปลา หมี่ตุ้ม หมี่กระจัง หมี่ข้อ ทำเป็นหมี่คั่น มิได้ทอเป็นหมี่ทั้งผืน แต่หากมีลายต่าง ๆ มาคั่นไว้ สีที่นิยม คือ สีเขียว สีน้ำเงิน สีแดง สีม่วง พื้นมักใช้เครือหูกฝ้ายสีเปลือกอ้อย นอกจากนี้ยังพบผ้ามัดหมี่ฝ้ายขาวสลับดำในกลุ่มผู้ไทย เสื้อ นิยมทำเป็นเสื้อแขนกระบอกสามส่วนติดกระดุมธรรมดา กระดุมเงิน หรือเหรียญสตางค์
ที่มา : หนังสือผ้าลายโบราณชาติพันธุ์ผู้ไท
https://online.anyflip.com/csypr//vig/mobile/index.html
หนังสือผ้าลายโบราณชาติพันธุ์ผู้ไท
จัดทำโดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดมุกดาหาร
Keywords: ผ้าลายโบราณ