หอแก้วมุกดาหารเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก

ที่ตั้ง https://goo.gl/maps/RP7pJnQ2mRk8HRXL7

ที่อยู่ เลขที่ 93 ถ.มุกดาหาร-ดอนตาล ต.สีบุญเรือง อ.เมือง จ.มุกดาหาร 49000

       หอแก้วมุกดาหารเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก หรือมักเรียกกันสั้น ๆ ว่า หอแก้วมุกดาหาร สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี ภายใต้การริเริ่มของนายสาโรช คัชมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร ในขณะนั้น โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างขึ้นบนเนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 14 ตารางวา ซึ่งได้รับการบริจาคโดย นายธีระชัย ฐานิตสรณ์ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2538 ดำเนินการก่อสร้างโดยใช้เทคโนโลยีชั้นสูงสมัยใหม่ ทั้งในด้านการออกแบบ โครงสร้าง และการก่อสร้าง แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2539 จากนั้นมอบให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)มุกดาหารเป็นหน่วยงานดูแลรักษา โดยเปิดให้เข้าชมครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2539 และกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งที่สำคัญของจังหวัดมุกดาหาร 

     หอแก้วมุกดาหาร มีลักษณะเป็นหอคอยรูปทรงกระบอก มีความสูง 65.50 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางตัวแกนหอคอย 6 เมตร ส่วนฐานมีลักษณะเป็นอาคาร 2 ชั้น ทรงเก้าเหลี่ยมแทนความหมายถึงรัชกาลที่ 9 มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร มีทางเข้าออก 3 ทาง ส่วนแกนหอคอยเริ่มตั้งแต่ชั้น 3 ถึงชั้น 6 มีความสูง 50 เมตร ส่วนหอชมวิว และโดม มีความสูง 15 เมตร บนยอดสูงสุดเป็นที่ตั้งของ “ลูกแก้วมุกดาหาร” มีลักษณะกลมสีขาวหมอกมัว ทำจากประเทศเยอรมนี มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 เมตร การขึ้นไปเที่ยวชมจะมีลิฟต์และบันไดเวียน สำหรับอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการขึ้นไปยังหอชมวิวและชั้นต่างๆ ของหอคอย  โดยมีชั้นสำหรับชมนิทรรศการและทัศนียภาพรอบด้าน ในระดับต่าง ๆ รวม 4 ระดับ คือชั้นที่  1 2 6 และ 7 โดยบนชั้นที่ 6 มีกล้องส่องทางไกลไว้รอบด้านเพื่อชมทิวทัศน์ ในระยะไกล นอกจากจะเห็นเมืองมุกดาหารในมุมสูงแล้ว ยังสามารถมองเห็นเมืองคันทะบุลี แขวงสะหวันนะเขต ที่อยู่อีกฝั่งของแม่น้ำโขงได้อย่างชัดเจน 

กิจกรรมและองค์ความรู้ภูมิปัญญาชุมชน

ชั้นที่

      จัดแสดงภาพปั้นดินเผาที่แสดงถึงวิถีชีวิตชาวมุกดาหารในอดีต รวมถึงประวัติความเป็นมาของเมืองมุกดาหาร 

ชั้นที่ 2

       จัดแสดงนิทรรศการ (จัดทำโดยคุณสุจิตต์ จันทรสาขา ลูกหลานผู้สืบเชื้อสายเจ้าเมืองมุกดาหารในอดีต) เครื่องแต่งกายไทยมุกดาหาร 8 เผ่า รูปแบบของการจัดแสดงเป็นการนำเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายของชาวเผ่าต่างๆ ใส่กับหุ่นสำเร็จ อย่างไรก็ดีการสอดคล้องกับความเป็นจริงของเครื่องแต่งกายเผ่าต่าง ๆ   และนำหุ่นลักษณะเชิงแฟชั่นที่ใช้ในร้านสรรพสินค้ามาจัดแสดง ยังต้องถูกตั้งคำถามถึงความถูกต้องและเหมาะสม

       ส่วนเรื่องราวการก่อตั้งและการปกครองบอกเล่าผ่านจดหมายเหตุการเมือง – การปกครองของเมืองมุกดาหารในอดีต อาวุธสงครามโบราณ และวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับงานราชการ สัญลักษณ์วัตถุที่แสดงถึงอำนาจในอดีต ประวัติศาสตร์เหล่านี้กลับเน้นเพียงเรื่องราวของชนชั้นปกครองส่วนบน อาจเป็นเพราะเอกสารอ้างอิงมีเนื้อหาไปในทิศทางดังกล่าว หรือการเลือกที่จะบอกเล่าเรื่องเฉพาะนั้นๆ เรื่องราวในถิ่นเมืองมุกดาหารที่กล่าวถึงบุคคลทั่วไปเป็นสุญญากาศของประวัติศาสตร์ เพราะเนื้อหาเน้นในเรื่องของผู้ปกครองส่วนบน สายตระกูล และกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ไม่ได้บอกเล่าถึงชาวบ้านมากนัก

ชั้นที่

       นิทรรศการหลักจัดแสดงโดยใช้ผนังรอบในของหอ และกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ “แม่น้ำโขง มหานทีแห่งเอเชีย สายน้ำแห่งอุษาคเนย์ สายธารอารยธรรม” และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ “เส้นทางความสัมพันธ์ลุ่มน้ำโขง East-West Economic Corridor, เส้นทางการค้าไร้พรมแดน” การจัดแสดงโดยส่วนใหญ่เป็นการใช้งานออกแบบกราฟฟิก และการสร้างส่วนของสถาปัตยกรรม (ซุ้มปราสาททางเข้า) ประดับเป็นระยะ

       นอกจากนี้ บริเวณกระจกโดยรอบจัดเป็นหอชมวิว และส่องกล้องทางไกลชมทิวทัศน์ของแม่น้ำโขง และฝั่งตรงข้าม คือประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เนื้อความที่อธิบายสถานที่ต่างๆ ที่สามารถมองเห็นได้จากกล้องส่องทางไกล เช่น พิพิธภัณฑ์กะปอมยักษ์ในลาว   ส่วนบริเวณขายของที่ระลึก ตั้งอยู่ที่จุดแรกหลังจากออกมาจากลิฟท์โดยสาร

ชั้นที่

       เป็นห้องที่อยู่ในส่วนลูกแก้วบนสุดของหอคอย จัดเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธนวมิ่งมงคลมุกดาหาร (พระประจำเมือง) เป็นพระพุทธรูปเนื้อเงินแท้บริสุทธิ์ผสมทองคำ ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 20 นิ้ว นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปประจำวันเกิด โดย ผู้ชมสามารถสักการะและบริจาคเงิน 

เอกสารอ้างอิง

https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/1020

https://thaiza.com/travel/guide/226601/

https://www.paiduaykan.com

https://thailandtourismdirectory.go.th/th/attraction/279

Posts created 14

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top